การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ

การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืน ในส่วนการเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการผลิตและการค้าของประเทศให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ในการที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มในทุกขั้นตอนของการผลิตและการตลาด ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงการผสมผสานและความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลผลิตอย่างเป็นขบวนการในระดับชาติ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในกระบวนการทำงาน การแบ่งปันประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคม สนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถพึ่งพาตนเอง รวมถึงการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากธุรกิจขนาดใหญ่ โดยผสมผสานภูมิปัญญาไทยกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และการปรับปรุงประสิทธิภาพ คุณภาพและความรวดเร็วของบริการโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน

ในปัจจุบันปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวยังมีประสิทธิภาพต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพของคน ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความสามารถด้านการบริหารจัดการ และบริการโครงสร้างพื้นฐานที่คุณภาพไม่ดีพอ การเสริมสร้างให้ปัจจัยเหล่านี้มีคุณภาพและเพียงพอเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่จะทำให้ภาคการผลิตมีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์โดยอาศัยนโยบายและมาตรการระดับมหภาคโดยลำพัง จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงแนวทางการพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งต่อธุรกิจพื้นฐานด้านการผลิต การค้า และบริการ

ภาคการผลิตในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวที่ค่อนข้างช้าเมื่อเปรียบเทียบกับภาวะที่โลกปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่อาศัยฐานความรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง โดยพืชเกษตรหลักไม่สามารถแข่งขันได้ มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ขาดการอนุรักษ์ฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะที่ดินและทรัพยากรน้ำ ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของฐานการผลิตและเป็นปัญหาต่อเนื่องด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว อีกทั้งสถาบันเกษตรกรยังขาดความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและภาคการเกษตรโดยรวม

ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนในกระบวนการผลิตสูง เนื่องจากแรงงานขาดทักษะและไม่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพต่ำ ขาดการออกแบบที่ดี รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต ขาดการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ยังอ่อนแอ และขาดกลไกที่จะประสานเชื่อมโยงธุรกิจข้ามชาติในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน รวมทั้งผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปรับตัวเพื่อการแข่งขันในตลาดที่มีพลวัตและผันผวนสูงขึ้นได้